วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

กลยุทธ์ความสำเร็จของ "พญ.นลินี ไพบูลย์"


“กิฟฟารีน” ภายใต้การบริหารของ “พ.ญ.นลินี ไพบูลย์” ด้วยแนวคิด และวิธีการที่เต็มไปด้วยกลยุทธ์ จนวันนี้แบรนด์ “กิฟฟารีน” สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่ม Mass สร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 10 เท่าในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นเครือข่ายธุรกิจขายตรงแบรนด์ไทยที่มาแรง สามารถชิงส่วนแบ่งจากแบรนด์ต่างชาติได้อย่างน่าจับตามอง ชื่อของ “พ.ญ.นลินี” จึงกลายเป็นแบรนด์ของผู้หญิงเก่ง ที่ไม่มีนักธุรกิจคนไหนที่ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงของเธอ 

ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่วันหนึ่งต้องหย่าร้าง และเลี้ยงลูกเพียงลำพัง อาจเป็นจุดเปลี่ยนให้ผู้หญิงคนนั้นหมดหวัง แต่สำหรับ “พ.ญ.นลินี ไพบูลย์” ประธานกรรมการ บริษัทกิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด ตรงกันข้าม จุดเปลี่ยนของชีวิตครั้งนั้นทำให้พลังของ “พ.ญ นลินี” ล้นเหลือกว่าที่หลายคนคิด 


เข้าถึงใจลูกค้า 

“พ.ญนลินี” รู้ว่าคุณสมบัติความเป็นแพทย์ และประสบการณ์จากการเปิดคลินิกรักษาโรคทั่วไป และผิวหนัง บวกกับประสบการณ์ธุรกิจขายตรงในแบรนด์ “สุพรีเดอร์ม” เมื่อครั้งยังไม่ได้หย่าจากสามี เพียงพอที่จะเป็นพื้นฐานให้ “หมอนลินี” หรือ “หมอต้อย” รู้ความต้องการลูกค้ากลุ่มนี้อยู่บ้าง แต่เพราะไม่เคยรับผิดชอบหรือทำธุรกิจด้วยตัวเอง เส้นทางนักธุรกิจของพ.ญ.นลินี จึงดูเหมือนว่าจะเริ่มต้นจากศูนย์ ทำให้ยิ่งต้องค้นหาความรู้ทั้งจากตำรา และการเข้าชั้นเรียนเพื่อเสริมความรู้ด้านธุรกิจให้แข็งแรงยิ่งขึ้น 

แม้ในช่วงแรกจะมีเสียงคัดค้านจากคนรอบข้างอยู่บ้าง เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยที่เริ่มถดถอยก่อนปี 2540 ซึ่งเป็นการยากที่แบรนด์ใหม่จะแจ้งเกิดในตลาด แต่เสียงความมุ่งมั่นของพ.ญ.นลินีดังกว่า 

ทุกคนต้องการ “ความสวยงาม” และ “ความมั่นคง” ของชีวิต คือคำตอบที่เข้าถึงความรู้สึกคนทุกคนมากที่สุด จากจุดนี้จึงต่อยอดให้ “กิฟฟารีน” แบรนด์ขายตรงที่ “พ.ญ.นลินี” สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี 2538 ยืนได้อย่างแข็งแรง โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจไทยในปี 2540 พังครืนจากค่าเงินบาทลอยตัว และคนว่างงานกันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจขายตรงเป็นทางออกของบางคนในช่วงนั้น 

หาจุดต่างแจ้งเกิด 

ด้วยความที่กิฟฟารีนเป็นสินค้าแบรนด์ไทย ขณะที่มีสินค้าแบบเดียวกันเป็นแบรนด์จากต่างประเทศทำตลาดอยู่มาก สนามที่พ.ญ.นลินีต้องลงแข่งขันจึงไม่ธรรมดา โจทย์ที่ต้องหาคำตอบ คือการหาจุดต่าง 

การใช้จุดต่าง (Differentiation) ในการวาง Positioning ของสินค้า เป็นสูตรที่หลายๆ สินค้าและบริการนำมาใช้เสมอ “กิฟฟารีน” ก็เช่นกันที่ต้องหาจุดต่าง และเนื่องจากเป็นธุรกิจขายตรง จุดต่างจึงต้องมีใน 2 ส่วน คือผลิตภัณฑ์ที่เสนอต่อลูกค้า และระบบบริหารเครือข่าย 

พ.ญ.นลินีบอกว่า “ความเป็นหมอสอนไว้ว่า ไม่ให้เชื่ออะไรที่ไม่มีเหตุผล ดังนั้นเมื่อต้องเริ่มต้นบอกกับลูกค้า กิฟฟารีนเลือกวิธีชี้แจงส่วนผสมและวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์กิฟฟารีน ให้ความรู้แก่ผู้ใช้ ทำให้ไม่มีข้อโต้แย้งได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของกิฟฟารีนต่างจากแบรนด์อื่น” 

ส่วนความต่างที่ให้กับสมาชิกเครือข่าย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขยายจำนวนมาสมาชิกที่ถือเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า คือ นอกจากให้ส่วนแบ่งในเปอร์เซ็นต์ที่สูงแล้ว ยังให้ความรู้สึกแก่สมาชิกว่าเป็นเสมือนผู้ถือหุ้นบริษัทที่สามารถรับรู้รายจ่าย รายได้ของบริษัทอีกด้วย 

สูตรบริหาร 

หากถามถึงหลักการทำงานแล้ว พ.ญ.นลินีบอกว่ามี 2 หลักใหญ่ หลักการแรกคือความระมัดระวัง เมื่อมีข้อผิดพลาด ให้เร่งหาสาเหตุโดยเร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุด 

“เมื่อเราไม่ได้มีพื้นฐานทางธุรกิจมาก่อน เวลาทำก็ต้องบริหารจัดการงานด้วยความระมัดระวัง เพราะเราไม่มีประสบการณ์ เราเริ่มกิจการจากกิจการเล็กๆ เริ่มต้นจากศูนย์ จึงต้องค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ เติบโต เรียนรู้ปัญหา ข้อผิดพลาด เรียกได้ว่าเติบโตจากการเรียนผิดเรียนถูก ข้อบกพร่อง Trial and Error และต้องตรวจสอบตัวเองตลอดเวลา เมื่อมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นต้องรีบแก้ไข หาสาเหตุให้เร็วที่สุด” 

หลักการที่สองพ.ญ.นลินีใช้หลักจิตวิทยา ในการบริหารบุคลากร และเครือข่ายของกิฟฟารีน ด้วยหลักการคิดที่ว่าทำให้คนที่ทำงานด้วยมีความสุข เห็นใจซึ่งกันและกัน คิดถึงใจคนที่มาอยู่ด้วยกัน ให้เขาเติบโต และมีความเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกัน เติบโตไปด้วยกัน ไม่ Centralize ที่ตัวเอง ต้องรู้ว่าคนทำงานกับเรา เขาต้องการอะไรและรับฟังความคิดเห็นของเขา 

ส่วนจะมีบ้างหรือไม่สำหรับพ.ญ.นลินีที่เกิดความรู้สึกท้อแท้ คำตอบโดยอัตโนมัติจากพ.ญ.นลินี คือไม่เคยท้อ ปัญหาที่เข้ามาถือเป็นความท้าทาย อุปสรรคที่เข้ามาต้องรีบคิดหาสาเหตุและแก้ไขให้ได้ ส่วนกำลังใจที่สำคัญคือมาจากครอบครัว และความที่ต้องรับผิดชอบต่อคนจำนวนมาก

“อย่ากดดัน อย่ายัดเยียด ต้องมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้คน กับคนรอบข้าง เราไม่ได้สอนให้คลั่งเหมือนลัทธิ จนคนใกล้ตัวกลัวและหนีหายกันหมด” 
คือหลักในการทำธุรกิจของกิฟฟารีนที่เธอพร่ำบอกกับบรรดานักธุรกิจกิฟฟารีนมาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะภาพลักษณ์ของแบรนด์เครือข่ายขายตรงในไทย มีทั้งน้ำดีและน้ำเน่า นอกเหนือจากการฉีกตัวเองให้ต่างด้วยธรรมาภิบาลโปร่งใสทุกขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ผลสำรวจจากสมาคมขายตรงแห่งประเทศไทยล่าสุด พบว่า กิฟฟารีนเป็นแบรนด์ที่มีความเป็นมิตร เข้าถึงได้ง่าย รู้สึกสบายใจและไม่รู้สึกติดลบและรู้สึกค่อนไปทางบวกกับแบรนด์
พญ.นลินี พยายามสกัดจุดอ่อนของขายตรงอื่นๆ และค้าปลีกทั่วไป เช่น เรื่องราคาสินค้า ที่ตั้งกำไรสุทธิไว้เพียง 5% ภาพลักษณ์ของกิฟฟารีนจึงไม่ใช่สินค้าราคาสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้ง่ายด้วย Affordable Price และจะทำให้ได้ High Volume ตามมา และที่สำคัญที่สุดคือจะได้จำนวน Repeat Customer ในอัตราที่สูงตามมา

กิฟฟารีนกำลังมองไปที่ 4 กลุ่ม คือ นักธุรกิจ คนทำงานวัย 30 ปีขึ้นไป นักศึกษา และวัยเริ่มทำงาน ซึ่งมี Insight เหมือนกันคือ แสวงหาความมั่นคงในชีวิต แม้ส่วนใหญ่กว่า 80% จะทำงานประจำอยู่แล้ว

เป้าหมายของคนทั่วไปในการเป็น ”เจ้าของ” มีความเป็นไปได้ เมื่อเป็นการสื่อสารที่มาจากพญ.นลินี ที่เปิดเผยเรื่องราวชีวิตส่วนตัว ทั้งเรื่องของครอบครัว และเส้นทางอาชีพจากผู้ที่เคยเป็นหมอ แต่สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้

“ชีวิตเรามีจุดเปลี่ยนจากแพทย์มาสู่นักธุรกิจอย่างไร เพราะเราต้องการสร้างคนไทยให้เป็นนักธุรกิจเป็นผู้ประกอบการ เพราะครอบครัวคนไทยแท้มักจะไม่ได้สอนให้ลูกทำธุรกิจเป็น”


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น